ภาวะกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบที่อันตรายมาก แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญ ที่ร้ายกว่านั้นคือ ถ้าเป็นแล้วไม่มีทางรักษาให้หายได้...

สาเหตุของการเกิดภาวะกระดูกพรุน คือ ภาวะที่ร่างกายขาดแร่ธาตุ แคลเซี่ยม (Calcium) เนื่องจากแคลเซี่ยมเป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและกระบวนการทำงานต่าง ๆ ในมนุษย์ และถือเป็นแร่ธาตุหลักที่ร่างกายขาดไม่ได้มีมากเป็นอันดับ 3 ในร่างกายมนุษย์ โดย 99% ของแร่ธาตุแคลเซี่ยมที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ทั้งหมดนั้นจะอยู่ที่กระดูกและฟัน อีก 1% ที่เหลือจะอยู่ในระบบไหลเวียนเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

Osteoporosis


ภาวะกระดูกพรุน คืออะไร??
ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่มีการสร้างกระดูกน้อยเกินไป หรือมีการสลายกระดูกมากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงของกระดูกแตกหักเพิ่มขึ้น ภาวะกระดูกพรุน ได้รับการขนานนามว่าเป็น โรคเงียบ เพราะความเป็นไปของโรคนั้นปราศจากอาการใด ๆ จนกระทั่งมีการแตกหักของกระดูกเกิดขึ้น ซึ่งภาวะนี้จะมีผลกระทบในช่วงหลังของชีวิต และพบบ่อยที่สุดในสตรีวัยทอง สิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงหรือมิให้เกิดก่อนวัยอันควร คือ การป้องกัน หมายถึง การเริ่มต้นให้เด็ก ๆ ได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณที่เพียงพอตั้งแต่เล็ก ๆ เป็นการสร้างต้นทุนกระดูก เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต

ในภาวะปกติ ร่างกายคนเราจะต้องรักษาระดับแคลเซี่ยมในเลือดไว้ให้เพียงพอสำหรับอวัยวะต่าง ๆ อยู่เสมอ หากขาดเมื่อไหร่ ร่างกายก็จะดึงเอาแคลเซี่ยมจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้รักษาระดับแคลเซี่ยมในเลือดทันที แหล่งดังกล่าวได้แก่ การดูดซึมจากอาหารที่รับประทาน และถ้าอาหารที่เรารับประทานให้แคลเซี่ยมไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะไปดึงจากกระดูกหรือฟันมาใช้แทน ดังนั้นจึงมักจะปรากฏอาการผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับกระดูกและฟันในคนที่มีความจำเป็นต้องใช้แคลเซี่ยมในปริมาณสูง ๆ อยู่เสมอ เช่น ในวัยหมดประจำเดือน (Menopausal Period) หรือ วัยทอง ซึ่งเป็นวัยที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื่องจากมีการสร้างน้อยลงและผลจากการที่ฮอร์โมนน้อยลงนี้ทำให้เกิดความบกพร่องในการดูดซึมแคลเซี่ยมผ่านทางเดินอาหารในขณะที่ร่างกายต้องใช้แคลเซี่ยมในกระบวนการต่าง ๆ เหมือนเดิม แหล่งอาหารอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ดังนั้นร่างกายจึงไปดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกมาใช้ประโยชน์ และหากนานเข้าก็จะทำให้เกิดปัญหากระดูกพรุน (Osteoporosis) เกิดปัญหากระดูกแตกหักง่าย อาการหลังงอ ปวดหลัง และอาการต่าง ๆ เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาทตามมาอีกมากมาย

osteoporosis


การเสื่อมสลายของกระดูก
ตลอดช่วงเวลาของชีวิต แคลเซี่ยมในกระดูกจะสลายหรือละลายออกจากเซลล์กระดูกเก่า และกระดูกใหม่จะถูกสร้างเสริมไปแทนที่ในโครงสร้างกระดูก ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างกระดูก ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น กระดูกใหม่จะถูกสร้างขึ้นได้เร็วกว่ากระดูกที่สลายออก กระดูกจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น หนักขึ้น และหนาแน่นขึ้น กระบวนการสร้างกระดูกจะดำเนินต่อไปเร็วกว่าการสลายกระดูก จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดของความหนาแน่นของกระดูก (เป็นจุดที่มีความหนาแน่นและความแข็งแรงมากที่สุด) ซึ่งจะอยู่ในช่วง 20 - 30 ปี หลังจากอายุ 30 ปี กระบวนการสลายกระดูกจะเริ่มต้นขึ้นมากกว่ากระบวนการสร้างกระดูก และกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ กระบวนการสลายกระดูกจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในช่วง 2 -3 ปีแรกหลังจากวัยทอง และยังคงสูญเสียต่อไปในช่วงหลังของวัยทองด้วย ภาวะกระดูกพรุน จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อกระบวนการสลายกระดูกเกิดขึ้นเร็วกว่ากระบวนการสร้างกระดูก และจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง หากไม่มีการสร้างเสริมมวลกระดูกที่เพียงพอในแต่ละช่วงปีของชีวิต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในสตรีระหว่างการตั้งครรภ์ หากรับประทานแคลเซี่ยมไม่เพียงพอ สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ก็จะมีอาการฟันโยกคลอน หรือฟันหลุดจากฐานรากฟันได้ ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างการตั้งครรภ์ เด็กที่อยู่ในครรภ์จำเป็นต้องได้รับแคลเซี่ยมเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกระดูกในปริมาณสูง ซึ่งแหล่งแคลเซี่ยมก็มาจากแม่ และถ้าแม่ไม่ได้รับแคลเซี่ยมอย่างเพียงพอจากอาหารที่รับประทาน เด็กก็จะไปดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกและฟันของแม่ ซึ่งฐานรากฟันก็จะเป็นแหล่งแคลเซี่ยมที่ดีแหล่งหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นสตรีในระยะตั้งครรภ์ จึงมักปรากฏอาการฟันโยกคลอนเสมอ ๆ

บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการแคลเซี่ยมในปริมาณสูงเช่นกัน คือ วัยเด็ก หรือวัยรุ่น ที่กำลังเจริญเติบโต เนื่องจากร่างกายจะต้องนำเอาแคลเซี่ยมไปเสริมสร้างกระดูกให้ยาวขึ้นและแข็งแรงขึ้น ผลจากการวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก ยืนยันว่า หากร่างกายขาดแคลเซี่ยมในระหว่างการเจริญเติบโตจะทำให้เด็กเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กระดูกไม่ยืดยาวออก เด็กจะเตี้ยกว่ามาตรฐานปกติของคนในเชื้อชาติเดียวกัน

Osteoporosis

จริง ๆ แล้ว ถึงแม้ร่างกายจะขาดแคลเซี่ยมไม่ได้ก็ตาม แต่การได้รับแคลเซี่ยมเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากการทำงานของแคลเซี่ยมนั้นจะต้องทำงานร่วมกับแร่ธาตุและสารต่าง ๆ อีกหลายชนิด เราพบว่าในกระดูกและฟันของเรานั้นถึงแม้แร่ธาตุหลักคือแคลเซี่ยม แต่หากขาดแร่ธาตุแมกนีเซี่ยม ร่างกายก็ไม่สามารถสร้างโมเลกุลของกระดูกได้เช่นกัน ปกติแล้วในกระดูกและฟันจะประกอบด้วยแร่ธาตุแคลเซี่ยมต่อแมกนีเซี่ยม ในอัตรา 2 ต่อ 1 เสมอ หรือในการทำงานของแคลเซี่ยมในระบบไหลเวียนเลือด ระบบการส่งกระแสประสาท ระบบกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานเกี่ยวกับการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ แคลเซี่ยมจะต้องทำงานร่วมกับแร่ธาตุแมกนีเซี่ยม เพราะลำพังแต่เพียงแร่ธาตุแคลเซี่ยมอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี

เราได้รับแคลเซี่ยมเพียงพอหรือไม่??
ร่างกายมนุษย์ปกติต้องรักษาปริมาณแคลเซี่ยมในเลือดอยู่ในระดับ 10 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร (ซีซี) หรือ 10 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เสมอ และพบว่าการดูดซึมแคลเซี่ยมผ่านระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ทำได้ดีที่สุดในวัยเด็กนั้น สามารถดูดซึมเข้ามาได้เพียง 50 - 70% ของปริมาณแคลเซี่ยมทั้งหมดที่ร่างกายได้รับจากอาหาร และเมื่ออายุมากขึ้นประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซี่ยมก็ยิ่งถดถอยลงเรื่อย ๆ ในวัยผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยดูดซึมได้เพียง 30 - 50% ของปริมาณแคลเซี่ยมทั้งหมดที่ได้จากอาหาร

ปริมาณที่แนะนำให้รับประทาน
ปริมาณแคลเซี่ยมที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (RDAS OF FDA) แนะนำให้รับประทานในแต่ละวัน เป็นดังนี้
เด็กแรกเกิด - 6 เดือน    ควรได้รับแคลเซี่ยม 360 มิลลิกรัม ต่อ วัน
เด็กอายุ 6 เดือน - 1 ปี    ควรได้รับแคลเซี่ยม 540 มิลลิกรัม ต่อ วัน
เด็กอายุ 1 ปี - 10 ปี    ควรได้รับแคลเซี่ยม 800 มิลลิกรัม ต่อ วัน
เด็กอายุ 10 ปี - 18 ปี    ควรได้รับแคลเซี่ยม 1000 มิลลิกรัม ต่อ วัน
ผู้ใหญ่ ชาย / หญิง    ควรได้รับแคลเซี่ยม 800 มิลลิกรัม ต่อ วัน
หญิงตั้งครรภ์    ควรได้รับแคลเซี่ยม 1200 มิลลิกรัม ต่อ วัน
หญิงให้นมบุตร    ควรได้รับแคลเซี่ยม 1200 มิลลิกรัม ต่อ วัน
วัยทอง        ควรได้รับแคลเซี่ยม 1200 มิลลิกรัม ต่อ วัน
** คนไทยส่วนมากได้รับแคลเซี่ยมโดยเฉลี่ย 350 มิลลิกรัม ต่อ วัน

Osteoporosis

นอกจากปัจจัยจากระบบการดูดซึมอาหารของมนุษย์เองแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่อาจทำให้ร่างกายเราได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณไม่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่
1. การขาดวิตามินดี (Vitamin D) เนื่องจากวิตามินดี จะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมเอาแคลเซี่ยมจากทางเดินอาหารได้มากขึ้น หากขาดหรือบกพร่องร่างกายก็จะดูดซึมแคลเซี่ยมได้น้อยลง
2. ระบบทางเดินอาหารมีความบกพร่อง เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งลำไส้ เพราะโรคเหล่านี้จะไปรบกวนระบบการดูดซึมแคลเซี่ยม
3. ภาวะความเป็นกรดในกระเพาะสูงเกินไป ทำให้แคลเซี่ยมแตกตัวเป็นรูปของอิออน (Ca++) และดูดซึมได้น้อยลง
4. ความเครียด ซึ่งจะไปมีผลทำให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะสูงขึ้น ลดการดูดซึมแคลเซี่ยมเช่นกัน
5. รับประทานอาหารจำพวก ไขมัน หรือโปรตีนในปริมาณสูง ๆ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะไปบดบังการดูดซึมแคลเซี่ยมในทางเดินอาหาร
6. อาหารที่ให้กรดอ๊อกซาลิค (Oxalic Acid) ในปริมาณสูง เช่น ผักขม โกโก้ ฯลฯ เนื่องจากกรดอ๊อกซาลิคจะไปจับกับแคลเซี่ยมในทางเดินอาหารทำให้ดูดซึมผ่านทางเดินอาหารไม่ได้
7. การรับประทานฟอสฟอรัสมากเกินไป จะเกิดการแย่งกันดูดซึมกับแคลเซี่ยม ทำให้ดูดซึมแคลเซี่ยมได้น้อยลง จะเห็นว่าเฉพาะเพียงการดูดซึมแคลเซี่ยมผ่านทางเดินอาหาร ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เกิดความบกพร่องได้ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงยังมีปัจจัยอื่นภายในร่างกายที่มีผลทำให้เกิดภาวะการขาดแคลเซี่ยมได้อีกด้วย เช่น ในวัยทองที่ปริมาณฮอร์โมนในร่างกายลดลง ทำให้ไปลดการดูดซึมแคลเซี่ยมหรือภาวะต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณสูงมาก ๆ เช่น ระยะตั้งครรภ์ เด็กที่กำลังเจริญเติบโต หรือในสตรีที่เสียเลือดจากการมีประจำเดือนมาก ๆ ก็อาจทำให้ร่างกายขาดแคลเซี่ยมได้เช่นกัน

ขาดแคลเซี่ยมแล้วจะเป็นอย่างไร??
1. อาจทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและฟัน เช่น กระดูกอ่อนหักง่าย กระดูกพรุน ฟันโยกคลอนหรือหลุด ปวดหลัง หลังโก่งงอ กระดูกบิดเบี้ยวผิดรูป ฯลฯ
2. อาจทำให้เกิดอาการชา หรืออาการเจ็บกล้ามเนื้อ หรือชาตามปลายมือ ปลายเท้า
3. ทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระดับความดันโลหิต
4. ระบบประสาทและอวัยวะรับสัมผัสผิดปกติ ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย รวมทั้งอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
5. ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งในช่องท้องอย่างผิดปกติในระหว่างการมีประจำเดือนในผู้หญิง
6. ทำให้เด็กแคระแกรน ไม่เจริญเติบโตตามปกติ ความจำไม่ดี หรือปัญญาอ่อน
7. อาจทำให้ร่างกายทนต่อภาวะต่าง ๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะภาวะความเครียด ที่มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
8. เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด เลือดไม่สามารถแข็งตัว สร้างปัญหาเลือดไหลไม่หยุดในระหว่างการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังทำให้เส้นเลือดเปราะและแตกง่าย โดยเฉพาะเส้นเลือดเล็ก ๆ ที่ไปเลี้ยงดวงตา หัวใจ ตับ ไต หรืออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

calcium

คำแนะนำในการเลือกรับประทานแคลเซี่ยม
เราสามารถได้รับแคลเซี่ยมจากอาหารได้มากมายหลายชนิด อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง ได้แก่ กระดูกปลา นม และเราพบว่านมที่ถูกดึงเอาไขมันออกแล้วจะให้แคลเซี่ยมน้อยกว่า นอกจากนี้ยังพบในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม เช่น โยเกิร์ต เนย หรือแม้แต่ในสาหร่ายทะเล หอย เมล็ดถั่ว งาดำ กุ้งแห้ง กะปิ ปลากระป๋อง ผักคะน้า ตำลึง บร๊อคโคลี่ แต่หากเราอยู่ในบางภาวะที่จำเป็นต้องได้รับแคลเซี่ยมในปริมาณสูงกว่าคนทั่วไป ก็แนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซี่ยมได้โดยตรง โดยแคลเซี่ยมที่ถูกดูดซึมได้ดีที่สุด ควรอยู่ในรูปที่ไม่แตกตัวเป็นอิออน แคลเซี่ยมที่ถูกดูดซึมได้ดีที่สุด คือ แคลเซี่ยมคาร์บอเนต สกัดได้จากเปลือกหอยนางรม ในผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ที่ไม่สามารถดื่มนมได้ เนื่องจากไม่มีน้ำย่อย ก็จะได้ประโยชน์จากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทนี้

ในการรับประทานแคลเซี่ยมที่ถูกต้อง ควรรับประทานในขณะที่กระเพาะว่างและมีความเป็นกรดน้อยที่สุด หรือรับประทานก่อนอาหาร ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้สุขภาพของกระเพาะต้องปกติด้วย และการรับประทานแคลเซี่ยมที่ถูกต้องควรรับประทานแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น แมกนีเซี่ยม สังกะสี แมงกานีส ทองแดง จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด

จะเห็นได้ว่าความต้องการแคลเซี่ยมจะแตกต่างกันตามช่วงวัย อายุ และเพศ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การได้รับปริมาณแคลเซี่ยมอย่างเพียงพอจากอาหารตั้งแต่วันแรกของชีวิตจนตลอดทุกช่วงชีวิตเช่นกัน...