คุณเคยรู้สึกแปลกใจบ้างไหมว่าเหตุใดผู้หญิงบางคนจึงมีประกายความงามโดดเด่น สะดุดตาคุณเหลือเกิน ทั้ง ๆ ที่เธอผู้นั้นก็ไม่ได้มีใบหน้าที่สวยสมบูรณ์แต่อย่างใด อันที่จริงแล้วคุณเองก็สามารถเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความงามโดดเด่นได้เช่นกัน เพียงเอาใจใส่และดูแลผิวอย่างสม่ำเสมอ

เคล็ดลับง่าย ๆ ของการมีผิวสวยใส ไร้ริ้วรอย คือ การรู้จักเลือกใช้ครีมบำรุงผิวอย่างเข้าใจ

คล็ดลับ ต่อต้านริ้วรอย

เลือกใช้ครีมบำรุงผิวอย่างไรจึงจะดี
ครีมบำรุงผิวโดยทั่วไปจะมีองค์ประกอบหลัก คือ น้ำ น้ำมัน และสารอีมัลชั่น ซึ่งจะช่วยให้น้ำและน้ำมันเข้ากันเป็นเนื้อครีมอย่างที่เห็นโดยทั่วไป ครีมบำรุงผิวที่ดี เมื่อทาบนผิวหนังแล้ว เนื้อครีมควรจะเข้ากับผิวหนังได้ดี ไม่ทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะและเนื้อครีมควรกระจายได้ง่ายบนผิวหนัง ที่สำคัญต้องช่วยปกป้องผิวหนังได้นานหลายชั่วโมงในแต่ละวัน องค์ประกอบของน้ำมันต้องซึมซาบได้ดี สามารถซึมลึกสู่ผิวหนังกำพร้าชั้นลึกลงไปได้ ปัจจุบันจึงมีการเลือกสรรชนิดของน้ำมันที่จะให้ประโยชน์ต่อผิวหนังมากกว่าการเป็นเพียงน้ำมันที่เป็นสารหล่อลื่นผิวหนังธรรมดา เช่น น้ำมันโจโจ้บา น้ำมันจากดอกทานตะวัน น้ำมันจากผลแตงกวา และอื่น ๆ น้ำมันที่สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติเหล่านี้ อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อเซลล์ผิวหนัง นอกจากนี้ครีมบำรุงผิวที่ดีควรจะมีอาหารเสริมให้แก่ผิวหนังอีกด้วย วิตามินชนิดต่าง ๆ รวมถึงสมุนไพรที่ได้รับการวิจัย ค้นพบและรับรองว่าปลอดภัย เช่น วิตามินเอ, วิตามินอี, วิตามินซี, โคเอ็นไซม์ Q10 เป็นต้น

วิตามินเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ หรือสารต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยแห่งวัย ซึ่งสารต้านการเกิดอนุมูลอิสระสามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. สารแอนตี้ออกซิแดนท์ชนิดเอนไซม์ (Enzymatic Anti-Oxidants) ปกป้องเซลล์ที่อยู่ภายในร่างกาย ได้แก่ ซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (Super Oxide Dismutase - SOD) คาทาเลส (Catalase) กลูทาไทโอน เพอร์ออกซิเดส (Glutathione Peroxidases - GSHP) กลูทาไทโอน รีดักเทส (Glutathione Reductase) และกลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase - G-6-PD)

2. สารแอนตี้ออกซิแอนท์ที่ไม่ใช่เอนไซม์ (Non-Enzymatic Anti-Oxidants) มีโมเลกุลขนาดเล็ก ทำงานได้ทั้งภายในและภายนอกเซลล์ แต่จะทำงานภายนอกเซลล์เป็นส่วนใหญ่ คือ ในเส้นเลือด และระหว่างชั้นเนื้อเยื่อ โดยแบ่งประเภทตามการละลายได้เป็น 2 ชนิด
2.1 ไฮโดรฟิลิก แอนตี้ออกซิแดนท์ (Hydrophilic Anti-Oxidants) คือ สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในน้ำ เช่น กรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี
2.2 ไลโพฟิลิก แอนตี้ออกซิแดนท์ (Lipophilic Anti-Oxidants) คือ สารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน ได้แก่ อัลฟ่า โตโกฟิรอล (Alpha Tocopherol) หรือวิตามินอี, เบต้าแคโรทีน (Beta Carotene), ยูบีควิโนน-ยูบีควินอล (Ubiquinone-Ubiquinol) และรีดิวส์ กลูทาไทโอน (Reduced Glutathione - GSHR)

ผิวชั้นนอก (Epidermis) มีปริมาณของสารแอนตี้ออกซิแดนท์มากกว่าผิวชั้นใน (Dermis) หลายเท่า เนื่องจากเป็นส่วนที่ปกคลุมร่างกายชั้นนอกสุด จึงต้องมีระบบต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นปราการด่านแรกในการปกป้องผิวจากมลภาวะต่าง ๆ

คุณสมบัติสำคัญของสารแอนตี้ออกซิแดนท์ในอุดมคติที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นเพื่อนำมาใช้ผสมในครีมบำรุงผิวต่อต้านริ้วรอย คือ

  1. มีหน้าที่สำคัญทางสรีรศาสตร์ต่อผิวหนัง
  2. สามารถต่อต้านอนุมูลอิสระได้หลายชนิด
  3. หาง่าย ไม่เป็นพิษและไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
  4. ดูดซึมทางผิวหนังได้ดีในรูปของสารออกฤทธิ์
  5. ผลิตภัณฑ์มีความคงตัว
  6. ไม่เกิดการสันดาปกับออกซิเจนได้ง่าย ๆ ในบริเวณส่วนของผิวที่ต้องการการซ่อมแซมและปกป้อง

ส่วนผสมสำคัญในครีมบำรุงผิวและต่อต้านการเกิดริ้วรอย

วิตามินซี (Ascorbic Acid)
ทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระและเป็นองค์ประกอบร่วมของเอนไซม์ต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน เช่น เอนไซม์เฟอร์ริกและคิวปริกเมทัลเลี่ยนส์ (Ferric/Cupric Metalions Enzymes) ในขณะเดียวกันวิตามินซียังสามารถทำปฏิกิริยากับอนุมูลอิสระได้หลายชนิด มีความเป็นพิษต่ำ และเป็นตัวดึงวิตามินอีมาจากโตโกฟิรอลแรดิคัลได้ แต่ข้อด้อยของวิตามินซี คือ ถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกแสง ความชื้น ออกซิเจน ความร้อน และด่าง

ร่างกายต้องการวิตามินซีประมาณวันละ 60 มก. ส่วนผู้หญิงมีครรภ์และผู้สูบบุหรี่ต้องการมากขึ้นเป็นประมาณวันละ 140 มก. อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยวและผักใบเขียว การรับประทานวิตามินซีค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากวิตามินซีละลายในน้ำได้ วิตามินซีที่รับประทานเข้าไปจะไปอยู่ในผิวชั้นนอกมากกว่าผิวชั้นในถึง 5 เท่า และมีผลในการช่วยลดปริมาณอนุมูลอิสระในผิว ช่วยสมานแผล ชะลอการร่วงโรยของผิว และป้องกันการเกิดมะเร็งผิวหนัง

วิตามินซีส่วนใหญ่อยู่ในรูปของกรดแอล-แอสคอร์บิก (L-Ascorbic Acid) ได้แก่ แอสคอร์บิลพาลมิเทต และแอสคอร์บิลฟอสเฟต ซึ่งแอสคอร์บิลฟอสเฟตเป็นวิตามินซีที่ละลายน้ำได้ดีและคงตัวอยู่ได้นานถึง 6 เดือน จึงมีผู้นำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายชนิด ส่วนแอสคอร์บิลพาลมิเทตนั้นละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน จึงใช้เป็นส่วนผสมในครีม โลชั่น และน้ำมัน ข้อดีของสารตัวนี้คือมีค่า pH หรือค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เป็นกลางจึงไม่ระคายเคืองต่อผิว

จากการทดสอบพบว่า การทาวิตามินซีบนผิวสามารถลดอาการบวมแดงหรืออาการไหม้จากแสงแดดได้ โดยหากผสมวิตามินอี ลงไปด้วยก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้ผลใกล้เคียงกับครีมกันแดดที่มีออกซิเบนโซนเป็นส่วนประกอบ และหากใช้วิตามินซี วิตามินอี และออกซิเบนโซน ร่วมกันก็จะสามารถป้องกันภาวะพิษจากแสงแดดได้เกือบ 100% อย่างไรก็ตาม วิตามินซีไม่สามารถป้องกันการหย่อนยานของผิวได้ รวมทั้งยังไม่มีผลการศึกษาและทดสอบกับคนจำนวนมาก เพื่อยืนยันว่าวิตามินซีมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในเรื่องดังกล่าว

วิตามินอี (Alpha-Tocopherol)
วิตามินอีประกอบด้วยโทโคฟีโรลส์ (Tocopherols) และโทโคเทรียโนลส์ (Tocotrienols) ซึ่งพบในผัก น้ำมันพืช เมล็ดพืช ข้าวโพด ถั่ว แป้งสาลี เนยเทียม เนื้อสัตว์ และนม วิตามินอีเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์สำคัญในพลาสม่าและเม็ดเลือดแดงที่ช่วยปกป้องสารประกอบไขมัน (Lipid) ในเนื้อเยื่อเซลล์จากอนุมูลอิสระ จากการศึกษาพบว่า ผิวหนังบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า มีปริมาณวิตามินอีมากกว่าผิวหนังบริเวณแขนถึง 20 เท่า เนื่องจากต่อมไขมันคือช่องทางสำคัญในการนำวิตามินอีสู่ผิวหนัง วิตามินอีสามารถละลายได้ในไขมัน ทนความร้อนและความเป็นกรด-ด่างได้ดี แต่จะเสื่อมสภาพเมื่อสัมผัสกับแสงและออกซิเจน

ร่างกายสามารถรับวิตามินอีได้ถึงวันละ 3,000 มก. อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่เป็นอันตราย แต่สำหรับผู้ที่มีอาการของความดันโลหิตและเบาหวาน ไม่ควรใช้ในขนาดสูงกว่า 4,000 มก. และพบว่ายาระบายและยาคุมกำเนิดมีฤทธิ์ต้านวิตามินอีด้วย วิตามินอีมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการรักษาความเยาว์วัยของผิว คือ ช่วยในเรื่องการสร้างตัวของเซลล์ใหม่ การทำงานของต่อมและฮอร์โมน รวมทั้งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไป การขาดวิตามินอี ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเปราะ แตกง่าย และคอลลาเจนที่ผิวหนังลดลง จึงเกิดเป็นริ้วรอย และมีการสะสมของไขมันอย่างผิดปกติ

ผลการทดลองพบว่า วิตามินอี สามารถลดอาการไหม้จากแสงแดด ช่วยลดริ้วรอย และทำให้ผิวอ่อนนุ่มขึ้น ในการทดลองเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนัง การทาและการรับประทานวิตามินอีจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ส่วนการรับประทานวิตามินเอและวิตามินอีอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถลดอัตราเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็งขั้นพื้นฐานได้ถึง 70% และพบด้วยว่า การรับประทานวิตามินอีวันละ 400 มก. ในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารจะทำให้แผลหายเร็วกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก แต่การทาวิตามินอีกลับไม่มีผลต่อความหนาและสภาพของแผลเป็น

วิตามินเอ (Retinol)
พบมากในพืชที่มีสีเขียวและเหลือง ไข่แดง เนย ตับ และน้ำมันตับปลา ร่างกายจะสะสมวิตามินเอไว้ในตับ วิตามินเอจะออกฤทธิ์เมื่อแปรสภาพเป็นกรดเรติโนอิก แต่จะเสื่อมสภาพจากแสง ออกซิเจน และค่า pH ที่เปลี่ยนแปลง สารธรรมชาติและอนุพันธ์สังเคราะห์จากวิตามินเอนั้นเรียกรวม ๆ ว่า เรตินอยด์ (Retinoids) เรตินอยด์ เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง อาทิ ช่วยควบคุมการเจริญเติบโต แยกความแตกต่างของเซลล์บุผิว ชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง ลดอาการอักเสบ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันโรค กระตุ้นการซ่อมแซมผิวหนังที่ถูกทำลายจากแสงแดด ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างเอนไซม์เมทาลโลโปรตีเนส (Metallo Proteinase Enzyme) ที่เป็นตัวการในการสลายคอลลาเจน นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการเสริมสร้างคอลลาเจนอีกด้วย การทาเรตินอยด์จะช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น กระ ฝ้า จางลง ลดจำนวนและขนาดของแอคตินิค เคราโตส (Actinic Keratoses)

เบต้าแคโรทีน (Beta Carotene)
สารตั้งต้นของวิตามินเอ ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระและปกป้องเนื้อเยื่อเซลล์จากอนุมูลอิสระไลพิดเพอร์ออกไซด์ (Lipid Peroxidation) พบมากในผักใบเขียว แครอท มันฝรั่งหวาน แคนตาลูป เนื้อสัตว์ เนย และเนยแข็ง และถูกดูดซึมสู่ร่างกายได้ดีเมื่อรับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมัน

ในการทดลองกับสัตว์พบว่า เบต้าแคโรทีน สามารถยับยั้งมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากแสงแดด แต่ประสิทธิภาพนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ในคน เราสามารถรับประทานเบต้าแคโรทีนได้ถึงวันละ 180 มก. โดยไม่เป็นอันตราย แต่หากรับประทานมากกว่า 30 มก. ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวเป็นสีเหลืองได้

วิตามินบี 3 (Niacinamide)
วิตามินที่ละลายในน้ำ พบในเนื้อเยื่อ ทำหน้าที่เผาผลาญสารอาหารเพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย มีคุณสมบัติในการสร้างคอลลาเจน เพิ่มอัตราการผลัดตัวของเซลล์ผิวเก่า และกระตุ้นการสร้างฟิแลกกริน (Filaggrin) และอินโวลูกริน (Involucrin) มีความคงตัวสูงเมื่อถูกแสง ออกซิเจน และความร้อน สามารถทำงานร่วมกับวิตามินอีได้ดี

โคเอ็นไซม์ คิวเท็น และ โค คิวเท็น ยูบีควิโนน (Co-Enzyme Q10, Co Q10 Ubiquinone)
โคเอ็นไซม์ คิวเท็น เป็นโมเลกุลเล็ก ๆ ที่มีอยู่ในเซลล์ของร่างกายตามธรรมชาติ ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อ 40 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ได้มีการใช้โคเอ็นไซม์ คิวเท็นกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในกระบวนการเผาผลาญเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน พบมากในอวัยวะที่มีการเผาผลาญสูง ได้แก่ หัวใจ ไต และตับ หากขาดคิวเท็น เซลล์จะเสื่อมสภาพ เป็นผลให้ผิวพรรณทรุดโทรมและเกิดริ้วรอยก่อนวัย ส่วนยูบีควินอลซึ่งเป็นรูปลดทางเคมีของยูบีควิโนน มีคุณสมบัติเป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ละลายในไขมันเพียงชนิดเดียวที่ร่างกายสร้างขึ้นมาได้เอง จะพบยูบีควินอลในบริเวณผิวหนังชั้นนอกมากกว่าผิวชั้นในถึง 10 เท่า

ในการทดสอบบนเซลล์ผิวหนังมนุษย์ โคเอ็นไซม์ คิวเท็น สามารถป้องกันการสันดาปจากแสงยูวีเอ ช่วยชะลอความเสื่อมตามธรรมชาติ ให้เซลล์สร้างเส้นใยด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ เพิ่มระดับของกรดไฮยาลูโรเนทที่ให้ความชุ่มชื้นในผิวชั้นใน ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ในเคราติโนไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผมและเล็บ มีความระคายเคืองต่ำแม้จะใช้ในปริมาณความเข้มข้นสูง สามารถใช้ในผิวบอบบาง แต่อาจมีอาการคันยิบ ๆ รอบจมูกเมื่อใช้ร่วมกับเครื่องสำอางบางชนิด อย่างไรก็ตาม จากการทดลองกับหนู พบว่า โคเอ็นไซม์ คิวเท็น ไม่ได้ช่วยยืดอายุ และไม่มีผลต่อการสะสมตัวของกระสีที่เกิดจากไขมันในเนื้อเยื่อซึ่งพบในสิ่งมีชีวิตที่อายุมากแล้ว จากการทดลองทาโคเอ็นไซม์ คิวเท็น สังเคราะห์รอบดวงตาของอาสาสมัคร พบว่าสามารถลดรอยย่นรอบดวงตาได้ ในปัจจุบันมีการนำโคเอ็นไซม์ คิวเท็นมาใช้เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์เพื่อป้องกันและรักษาโรคหลายชนิด รวมทั้งชะลอความแก่

ซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (Super Oxide Dismutase - SOD)
เป็นเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งในระบบป้องกันที่เป็นตัวทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดจากการเผาผลาญภายในของร่างกาย จากการทดลองพบว่า การเลี้ยงหนอนปกติด้วยสารสังเคราะห์ที่คล้ายกับซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส จะช่วยยืดอายุได้ถึง 44% และในหนอนที่แก่เร็วกว่าปกติจะช่วยยืดอายุได้ถึง 67%

สารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavanoids Compounds)
สามารถยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอนุมูลอิสระ เช่น แซนทีน ออกซิเดส (Xanthine Oxidase) และไลโปเปอร์ออกซิเดส (Lipo Peroxidase) นอกจากนี้ยังสามารถต่อต้านอนุมูลอิสระและปกป้องการแตกตัวของดีเอ็นเอ (DNA) ได้ด้วย สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ รูติน (Rutin) พีโนจีนอล (Pynogenol) เควอเซติน (Quercetin) แคทเทชิน (Catechin) และแนรินกิน (Naringin) โดยที่สารรูตินและเควอเซติน มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินซีถึง 10 เท่า รูตินและกรดโคลโรเจนิก (Chlorogenic Acid - CGA) พบมากในใบยาสูบ ส่วนพีโนจีนอลหรือวิตามินพี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทนความร้อนได้ดี สกัดได้จากเปลือกสน (French Maritime Pine) และเมล็ดองุ่น

นอกจากวิตามินที่ผ่านการทดสอบมาอย่างมากมายแล้ว สมุนไพรไทย ๆ เช่น ว่านหางจระเข้ หรืออโลเวร่า ก็นับเป็นสมุนไพรหลักในวงการวิทยาศาสตร์ทั่วไปว่ามีประโยชน์มหาศาลต่อผิวหนัง มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับวิตามินอีธรรมชาติ คือ ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ในผิวหนังชั้นลึกที่สุดของหนังกำพร้า มีผลทำให้ช่วยสมานแผล รวมถึงการใช้ทารักษาแผลน้ำร้อนลวก แผลเป็น ฯลฯ และมีการวิจัยพบว่า ส่วนผสมของวิตามินอี คือ ดีแอล-แอลฟ่า-โทโกเฟอรอล (DL-Alfa-Tocopharol) ร่วมกับอโลเวร่า ในครีมบำรุงผิวจะช่วยป้องกันผิวหนังจากดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย

เคล็ดลับ ต่อต้านริ้วรอย

ควรใช้ครีมบำรุงผิวบ่อยแค่ไหน
การใช้ครีมบำรุงผิวควรใช้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกครั้งที่อาบน้ำชำระร่างกาย เป็นการป้องกันไม่ให้ผิวหนังแตกเป็นขุย บางคนผิวแห้งแตกเป็นขุยและมีอาการคันร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าหนาว มักจะเกิดการคันสาเหตุจากผิวหนังแห้งมากนั่นเอง การใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของวิตามินธรรมชาติและสารสกัดจากสมุนไพรก็จะช่วยเพิ่มประโยชน์และคุณค่าต่อผิวหนังมากยิ่งขึ้น

หากคุณรู้จักวิธีเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอดีแล้ว คราวนี้ตำแหน่งสาวงาม สวย สะดุดตา จะเป็นของคุณบ้างอย่างไม่ไกลเกินเอื้อมแน่ ๆ